สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ใบสมัครสินเชื่อบุคคล   เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินหรือไม่

ในบางครั้งท่านได้กู้ยืมเงินจากบุคคลอื่นบ้าง  จากธนาคารบ้าง  ซึ่งจะต้องกระทำต่อหน้าพนักงานของธนาคารหรือต่อหน้าเจ้าหนี้  แต่ในกรณีมีใบสมัครสินเชื่อบุคคลไปยังที่บ้านของท่าน  ต่อมาท่านได้สมัครสินเชื่อบุคคลนั้น  แล้วส่งไปยังสำนักงานใหญ่ของธนาคาร  เมื่อธนาคารอนุมัติตามใบสมัครสินเชื่อบุคคลนั้นแล้ว  ธนาคารได้โอนเงินตามวงเงินที่ท่านได้สมัครสินเชื่อนั้นๆ  โดยไม่ได้จัดทำสัญญากู้ยืมเงินหรือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีต่อกันเอาไว้  เพราะหากว่า  ธนาคารไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินมาแสดงต่อศาลแล้ว  ศาลต้องยกฟ้อง  เนื่องจากธนาคารไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินมายืนยัน  ศาลไม่อาจพิจารณาให้จำเลยชำระเงินให้แก่ผู้ให้กู้ได้  ในกรณีเช่นนี้มีประเด็นว่า  ท่านได้ทำสัญญากู้ยืมเงินหรือหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินกับธนาคารแล้วหรือไม่

 

คำตอบคือ  เมื่อท่านได้กรอกข้อความในใบสมัครสินเชื่อนั้นแล้ว  ส่งไปยังธนาคารและธนาคารได้ส่งมอบเงินตามจำนวนในใบสมัครสินเชื่อดังกล่าวแล้ว  ถือว่าเป็นการส่งมอบเงินที่ได้กู้ยืมเงินกันแล้ว  และผลทำให้ใบสมัครสินเชื่อนั้นๆ  เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินระหว่างท่านกับธนาคารได้ 

จึงสรุปว่า  ใบสมัครสินเชื่อบุคคลเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

        ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 653  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
วรรคสอง  ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11489/2554


ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรค แรก

หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตามมาตรา 653 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ. ไม่ใช่แบบแห่งนิติกรรม ทั้งกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าหลักฐานดังกล่าวจะต้องมีขึ้นเฉพาะในขณะที่ทำสัญญากู้ยืม ดังนั้น หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือจึงอาจมีขึ้นก่อนหรือหลังทำสัญญากู้ยืมก็ได้ เมื่อได้ความว่าหลังจากจำเลยกรอกข้อความในแบบพิมพ์ใบสมัครสินเชื่อบุคคลขอกู้ยืมเงินโจทก์วงเงิน 35,000 บาท ตามเงื่อนไขและข้อตกลงในแบบพิมพ์ดังกล่าวและยื่นต่อโจทก์อันเป็นการทำคำเสนอขอกู้ยืมเงินโจทก์ และวันต่อมาโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบว่าตกลงให้จำเลยกู้ยืมเงิน 24,700 บาท ซึ่งอยู่ภายในวงเงินที่จำเลยขอกู้ยืม จึงเป็นคำสนองรับตามคำเสนอของจำเลย สัญญากู้ยืมระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเกิดขึ้นและบริบูรณ์ เมื่อโจทก์ส่งมอบเงินที่กู้ยืม โดยโอนเงิน 23,630 บาท เข้าบัญชีที่จำเลยระบุไว้ ดังนี้ ใบสมัครสินเชื่อบุคคลที่จำเลยกรอกข้อความและลงลายชื่อในช่องลายมือของผู้กู้ จึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมตามมาตรา 653 วรรคแรก ที่โจทก์ใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องให้บังคับจำเลยตามสัญญากู้ยืมได้
___________________________

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 23,906.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และค่าธรรมเนียมอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 19,041.81 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงจากสำนวนได้ความว่า เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2547 จำเลยขอสินเชื่อหรือขอกู้ยืมเงินโจทก์โดยกรอกข้อความในแบบพิมพ์ใบสมัครสินเชื่อบุคคลของโจทก์ แล้วยื่นต่อโจทก์วันที่ 15 มีนาคม 2547 โจทก์แจ้งผลการพิจารณาสินเชื่อให้จำเลยทราบว่า ตกลงให้จำเลยกู้ยืมเงิน 24,700 บาท ตามหนังสือแจ้งผลพิจารณาสินเชื่อบุคคล วันที่ 18 มีนาคม 2547 โจทก์โอนเงิน 23,630 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขากาดสวนแก้ว ตามที่จำเลยกรอกข้อความไว้ในใบสมัครสินเชื่อบุคคล
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงข้อเดียวว่า ใบสมัครสินเชื่อบุคคลเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว แบบพิมพ์ใบสมัครสินเชื่อบุคคลของโจทก์ที่จำเลยกรอกข้อความระบุวงเงินที่ขอกู้จำนวน 35,000 บาท เพื่อซื้อสินค้าอุปโภคและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และกรอกข้อมูลส่วนตัวของจำเลยเกี่ยวกับเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน ที่อยู่ อาชีพ ที่ทำงาน ค่าใช้จ่าย ข้อมูลทางการเงินและวิธีรับเงินที่กู้ยืม โดยในแบบพิมพ์นี้มีเงื่อนไขและข้อตกลงต่าง ๆ ของการกู้ยืม จำเลยลงลายมือชื่อในช่องลายมือชื่อของผู้กู้ในเอกสารฉบับนี้ เห็นว่า หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตามมาตรา 653 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ใช่แบบแห่งนิติกรรม ทั้งกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าหลักฐานดังกล่าวจะต้องมีขึ้นเฉพาะในขณะที่ทำสัญญากู้ยืม ดังนั้น หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือจึงอาจมีขึ้นก่อนหรือหลังทำสัญญากู้ยืมก็ได้ เมื่อได้ความว่าหลังจากจำเลยกรอกข้อความในแบบพิมพ์ใบสมัครสินเชื่อบุคคลขอกู้ยืมเงินโจทก์วงเงิน 35,000 บาท ตามเงื่อนไขและข้อตกลงในแบบพิมพ์ดังกล่าวและยื่นต่อโจทก์อันเป็นการทำคำเสนอขอกู้ยืมเงินโจทก์และวันต่อมาโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบว่าตกลงให้จำเลยกู้ยืมเงิน 24,700 บาท ซึ่งอยู่ภายในวงเงินที่จำเลยขอกู้ยืมจึงเป็นคำสนองรับตามคำเสนอของจำเลย สัญญากู้ยืมระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเกิดขึ้นและบริบูรณ์เมื่อโจทก์ส่งมอบเงินที่กู้ยืม โดยโอนเงิน 23,630 บาท เข้าบัญชีที่จำเลยระบุไว้ในแบบพิมพ์ใบสมัครสินเชื่อบุคคลดังกล่าว ซึ่งพนักงานของโจทก์ได้บันทึกไว้ในเอกสารนั้นด้วย ดังนี้ ใบสมัครสินเชื่อบุคคลที่จำเลยกรอกข้อความและลงลายมือชื่อในช่องลายมือชื่อของผู้กู้ดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมตามมาตรา 653 วรรคแรก ที่โจทก์ใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องให้บังคับจำเลยตามสัญญากู้ยืมได้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น แต่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมหรือไม่ เพียงใด ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง มิใช่ปัญหาข้อกฎหมายที่ขึ้นมาศาลฎีกาโดยตรง ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยได้ จึงจำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาในคดีนี้ให้สิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) (2) ประกอบมาตรา 247
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นอื่นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่